ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียน
หน่วยงาน บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจอยากจะเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
อาจตั้งคำถามว่าจะเริ่มต้นอย่างไร
หมายเลขเครือข่าย
(IP Address)
บนอินเทอร์เน็ตมีเครือข่ายนับล้านที่เชื่อมโยงถึงกันหมด
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดหมายเลขเครือข่ายที่ทำให้แยกแยะได้ว่าเป็นเครือข่ายใด
หมายเลขนี้เรียกว่า ไอพีแอดเดรส (IP Address) เช่นเครือข่ายของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง
5 มีหมายเลข 203.154.104.x แต่ละเครือข่ายจะมีหมายเลขแตกต่างกัน
เมื่อเรามีวงจรสายสื่อสารเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
เช่น ใช้วงจรสายสื่อสาร 19.2Kbps. หรือ 64Kbps. เชื่อมไปยังหน่วยงานบริการอินเทรอ์เน็ต
หรือที่เรียกว่า ISP (Internet Service Provider) เราต้องขอจดทะเบียนหมายเลข
IP ของเครือข่ายเรา หมายเลขนี้ขอได้ที่หน่วยงานชื่อ INTERNIC ในต่างประเทศ
แต่ปัจจุบันมีการกระจายมาให้แต่ละประเทศดูแลกันเอง ผู้ขอหมายเลขจึงขอได้จากหน่วยงาน
ISP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
การจดทะเบียนชื่อโดเมน
(Domain Name)
ทะเบียนชื่อโดเมนมีไว้เพื่อใช้อ้างอิงถึงกันในระบบเครือข่าย
เช่น ใช้เป็นชื่อองค์กร tv5.co.th โดยจากขวามือสุด "th" คือ "ชื่อประเทศ"
ถัดไป "co" คือ "ประเภทขององค์กร" และ "tv5" คือ "ชื่อองค์กร"
เมื่อมี "วงจรเช่าสายสื่อสาร" "หมายเลขแอดเดรส"
(IP Address) และ "ชื่อโดเมน (Domain Name)" แล้ว ก็สามารถสร้างโหนด
(Node) หรือเครือข่ายในองค์กรได้ เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งต้องการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่าย
Schoolnet ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ต ก็ต้องดำเนินการให้ได้หมายเลข
IP และชื่อโดเมนก่อน
อุปกรณ์เลือกเส้นทาง
(Router)
การสร้างโหนด (Node)
อยู่ที่การจัดหาอุปกรณ์ ซึ่งอาจใช้อุปกรณ์หาเส้นทางขนาดเล็กที่เรียกว่าเราท์เตอร์
(Router) เราท์เตอร์เป็นอุปกรณ์เชื่อมโยงเครือข่ายย่อยเข้าด้วยกัน
โดยถือว่าภายในองค์กรของเรามีเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งเครือข่าย ที่ต้องเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
สถานีบริการ
(Server)
ภายในเครือข่ายย่อยขององค์กร
แต่ละเครือข่ายที่เชื่อมอยู่ภายในกับอุปกรณ์หาเส้นทาง ก็จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นสถานีบริการ
(Server) ถ้าเป็นสถานีบริการรับส่งจดหมาย ก็เรียกว่า Mail Server
ผู้ใช้ภายในองค์กรสามารถเปิดตู้จดหมายหรือขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้ได้
ถ้าต้องการให้บริการข้อมูลข่าวสารไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext) เราก็เรียกว่า
"เว็บเวิร์ฟเวอร์" (Web Server) เครือข่ายย่อยภายในองค์กรจึงมีลักษณะการดำเนินงานเป็นแบบผู้ขอใช้บริการกับสถานีให้บริการ
(Server) ผู้ขอใช้บริการอาจใช้สถานีบริการขององค์กรเอง หรืออาจจะขอใช้ข้อมูลข่าวสารบนสถานีบริการอื่นที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้
การวางเครือข่ายภายในองค์กรจึงต้องการอุปกรณ์หาเส้นทางเป็นพื้นฐาน
และสามารถขยายเครือข่ายภายในออกเป็นหลาย ๆ เครือข่ายย่อย การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในองค์กร
ทำให้ผู้ใช้ทุกคนเรียกเข้าหาสถานีบริการภายในหรือภายนอกองค์กรผ่านทางเครือข่ายได้สะดวก
การจัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงไม่ใช่เรื่องยาก
หากสามารถเช่าช่องสัญญาณและเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใดที่หนึ่งได้
ก็สามารถนำเครือข่ายขององค์กรทั้งหมดเป็นโหนดส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตและกำหนดเชื่อมให้เป็นสากลได้
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและเป้าหมายที่สำคัญ
คือ ทุกองค์กรจะเป็นหน่วยหนึ่งของอินเทอร์เน็ต
เขียนโดย : รศ. ยืน ภู่วรวรรณ |