สาเหตุ
โรคใบไหม้เกิดจากเชื้อราไฟทอปเทอรา

อาการ
ใบเป็นจุดช้ำ คล้ายถูกน้ำร้อนลวก บริเวณแผลเป็นสีเขียวหม่น ถ้าอากาศเย็นและความชื้นสูง ด้านใต้ใบตรงจุดช้ำนี้จะมองเห็นคล้ายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ สีขาวใสติดอยู่ ต่อมาแผลจะค่อย ๆ แห้งกลายเป็นสีน้ำตาล และขนาดของแผลจะขยายใหญ่ขึ้นจนเกือบจะทั่วใบ จนใบแห้งไหม้เป็นสีน้ำตาล (ไหม้แบบฉ่ำน้ำ) และจะลุกลามอย่างรวดเร็ว จึงมักมองเห็นการเกิดโรคกระจายเป็นหย่อม ๆ ทั้งลำต้นและกิ่ง และยังทำลายที่หัว ทำให้เกิดอาการหัวเน่าในภายหลัง

การป้องกันกำจัด
1. ลดความชื้นในแปลงปลูก โดยใช้ระยะปลูกที่ห่างออกไปอีกเล็กน้อย และอย่าให้น้ำมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น เพราะอากาศเย็นจะทำให้เกิดโรคมากขึ้น
2. ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง และเผาทำลายทันที เพื่อลดการขยายพันธุ์ และลดการแพร่ระบาดของเชื้อต่อไป
3. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในบริเวณที่เคยปลูกมะเขือเทศมาก่อน หรือไม่ควรปลูกมันฝรั่งซ้ำในบริเวณที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน
4. เมื่อสภาพอากาศเย็นค่อนข้างหนาวและความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรค หากพบว่าโรคเริ่มระบาด ให้พ่นสารเคมีป้องกันการแพร่ระบาด สารที่แนะนำ คือ สารประเภทเมทาแลคซิล และ ออฟฟูเรส ควรใช้ในรูปของสารผสม หรือใช้สลับกันกับสารแมนโคเซป

หมายเหตุ
โรคนี้เข้าทำลายพืชได้ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างจำกัด ถ้าความชื้นต่ำ โรคจะระบาดช้าลง หรืออุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 22 องศาเซลเซียส โรคจะน้อยลงเช่นกัน ควรสังเกตสภาพแวดล้อมให้ดี จะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น