โรค-แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด  
ปกติสับปะรดมักปลูกซ้ำที่เดิมอยู่ตลอดปีเพียงพืชเดียวโดด ๆ  จึงเป็นโอกาสที่โรค-แมลงศัตรูจะระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   
ตลอดจนโรคมีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับสภาพการปลูกและการดูแลรักษา  ซึ่งปฏิบัติซ้ำซากตลอดมา  
โรคแมลงศัตรูที่สำคัญที่ทำความเสียหายให้กับสับปะรดมีดังนี้  

1.  โรคยอดเน่าหรือต้นเน่า  
เกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด  ทำความเสียหายร้ายแรงให้กับสับปะรดที่ปลูกในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำเลว หรือในช่วงฝนตกชุก และระบาดรุนแรงมากเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นด่างคือระดับความเป็นกรด-ด่างของดินสูงกว่า 5.5 ขึ้นไป   
เชื้อราพักอยู่ในดินได้เป็นเวลาหลายปี  เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็เข้าทำลายสับปะรดได้อีก  
อาการ  ในแปลงสับปะรดที่มีอายุ 2-3 เดือน  อาการเริ่มแรกจะเห็นใบสับปะรดเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นเขียวอมเหลืองซีด  
 ปลายใบงอเกิดรอยย่นบริเวณตัวใบ  ใช้มือดึงส่วนยอดจะหลุดติดมือโดยง่าย  โคนใบที่เน่าจะมีสีขาวอมเหลือง และมีขอบสีน้ำตาล  
 ส่งกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว  สำหรับสับปะรดที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป  หากดินฟ้าอากาศไม่เหมาะสมก็อาจเกิดโรคนี้ได้   
โดยจะแสดงอาการที่ส่วนยอดเท่านั้น  ซึ่งเป็นเพราะว่าส่วนยอดมีความอ่อนแอมากที่สุด  สับปะรดที่เกิดโรคนี้มักจะไม่ตาย  
แต่ทำให้เกิดอาการเตี้ยแคระออกผลล่าช้าหรือไม่ติดผลเลยก็ได้ ในฤดูฝนจะสังเกตอาการได้ยาก  มักพบว่าใบตรงกลุ่มกลางต้นจะล้มพับลงมา   
ทั้ง ๆ ที่ใบเริ่มจะเปลี่ยนสีเขียวเล็กน้อย  การเน่าจะมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว  
การป้องกันกำจัด  
1.  ปรับปรุงการระบายน้ำในแปลงปลูกให้ดี  เช่น  ไถดินให้มีความลึกมากขึ้น  การยกแปลงให้สูง  การปรับระดับพื้นที่ให้ลาดเอียงเล็กน้อย  
เพื่อไม่ให้น้ำขัง  จะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก  
2.  ควรใช้หน่อหรือตะเกียงปลูก  เพราะว่าการใช้จุกปลูกจะมีโอกาสเน่าเสียหายได้ง่าย  เพราะจุกมรอยแผลที่โคนขนาดใหญ่กว่า  
 เมื่อเทียบ กับหน่อหรือตะเกียง  
3.  ปรับระดับความเป็นกรด-ด่างของดินให้ลดต่ำกว่า 5.5  โดยใช้กำมะถันหรือปุ๋ยที่มีฤทธิ์ตกค้างเป็นกรด เช่น  แอมโมเนียมซัลเฟต  
4.  ก่อนปลูกจุ่มหน่อพันธุ์ให้ชุ่มในสารเคมีป้องกันเชื้อราที่แนะนำไปแล้วในเรื่อง "การเตรียมหน่อพันธุ์ก่อนปลูก" หลังปลูกไปแล้วควร  
ป้องกันโรคนี้โดยการใช้สารเคมีดังกล่าวฉีดพ่นที่ยอดทุก ๆ  2 เดือน  



2.   โรคผลแกน   
เกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด  โรคนี้จะพบมากในสับปะรดที่แก่จวนจะเก็บผลได้แล้ว  สับปะรดที่ผ่านช่วงแล้งและร้อนเป็นระยะเวลานาน ๆ  
สลับกับฝนตกในช่วงผลใกล้จะแก่  จะเกิดโรคนี้ได้มาก  รวมทั้งการใช้ปุ๋ยยูเรีย  ติดต่อกันในอัตราที่สูงมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคนี้ได้  
อาการ  ลักษณะอาการภายนอกผลไม่ค่อยแตกต่างจากสับปะรดที่ปกติ  แต่เนื้อภายในผลจะแข็งเป็นไต  มีบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  
เกิดอาการเป็นหย่อม ๆ หรือแพร่กระจายทั่วทั้งลูกก็ได้  ทำให้ความหวานลดลง สับปะรดที่มีผลขนาดใหญ่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผลที่มีขนาดเล็ก  

  
โรคผลแกน  

การป้องกันกำจัด  
1.  โดยลดปริมาณปุ๋ยยูเรีย  ให้ใช้ตามอัตราที่แนะนำ  
2.  ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  ฉีดพ่นทุก ๆ  15 วัน  ตั้งแต่ผลสับปะรดอยู่ได้ 90 วัน  จนก่อนเก็บเกี่ยวผล 1 เดือน  
3.  ฉีดพ่นด้วยสารเตตรามัยซิน อัตรา 250 ส่วนในล้านส่วน (ppm)  ในช่วงที่ผลสับปะรดเริ่มพัฒนาจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว  



3.  ไส้เดือนฝอย   
จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตอย่างมาก  โดยเฉพาะในสับปะรดรุ่นที่ 2 หรือ 3  มักจะมีอาการรากปม  ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยรากผมเป็นส่วนใหญ่  เมื่อไส้เดือนฝอยนี้เข้าทำอันตรายแก่สับปะรดแล้ว  เชื้อราโรคเน่าจะเข้าไปทำลายซ้ำเติมได้  
การป้องกันกำจัด  
1.  ขุดต้นและรากของสับปะรดที่แสดงอาการขึ้นมาเผาทำลาย  
2.  หลีกเลี่ยงการปลูกสับปะรดซ้ำที่เดิม, ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน  
3.  ปลูกพืชที่มีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอย  เช่น  ดาวเรือง  ถั่วลายโครตาเลีย  เป็นต้น  
4.  ใช้สารเคมีอบฆ่าไส้เดือนฝอยในดิน  เช่น  นีมากอน  ดี-ดี-มิกซ์เจอร์  เป็นต้น  


4.    เพลี้ยแป้ง   
เป็นแมลงตัวเล็กยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร  ลำตัวเป็นปล้องค่อนข้างสั้น  มีขี้ผึ้งคล้ายผงแป้งสีขาวห่อหุ้มตัว และมีเส้นใยยื่นออกจากตัว   
ตัวเมียไม่มีปีก  ตัวผู้มีปีก  มักพบเป็นกลุ่มที่ซอกกาบใบ  โดนต้นและลำต้น  เมื่อบี้ตัวแมลงจะมีเมือกสีแดงคล้ายเลือดออกมา  
การทำลายโดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณโคนต้นและราก  ถ้ามีการทำลายมาก ๆ  ต้นและใบจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งอาจถึงตายได้  ทำให้ผลผลิต  
ลดลง  ตัวพาหะของเพลี้ยแป้งคือ มดดำ  ซึ่งจะคาบเพลี้ยแป้งมาปล่อยไว้ที่ต้นสับปะรด และอาศัยกินของเหลวที่เพลี้ยแป้งขับถ่ายออกมา  
การป้องกันกำจัด  ควรทำควบคู่ไปกับการกำจัดมดดำที่เป็นพาหะของเพลี้ยแป้ง  โดยใช้มาลาไธออนฉีดพ่นหรือจุ่มหน่อก่อนปลูก  
เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง และใช้เซฟวินฉีดเป็นแนวกันมดรอบแปลงปลูก ถ้าพบเพลี้ยแป้งในภายหลังปลูกแล้วให้ใช้มาลาไธออนฉีดพ่นในอัตรา  
40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร  เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง