โรงเรือนและสถานที่ตั้งฟาร์ม
อาหารสำหรับนกอีม
การผสมพันธุ์
การฟักไข่นกอีมู
อุณหภูมิและความชื้น
การรมควัน
การกลับไข่
การกกลูกนกอีมู

โรงเรือนและสถานที่ตั้งฟาร์ม

นกอีมูเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแถบที่มีอากาศร้อนและแห้งสามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบปล่อยตามธรรมชาติ (Natural Conditions) และเลี้ยงขังในโรงเรือน (Intensive Rearing) แต่การเลี้ยงขังและจัดบริเวณภายนอกให้เดินเล่น จะช่วยให้การจัดการเลี้ยงดูสะดวกและควบคุมโรคได้ง่าย ดังนั้น การเลือกสถานที่และการวางผังจัดตั้งฟาร์มจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยโรงเรือนที่จะก่อสร้างก็จะต้องคำนึงถึงลักษณะและขนาดของโรงเรือนจะต้องเหมาะสมกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม อายุของนกอีมู การจัดการเลี้ยงดู และสามารถป้องกันศัตรู แดด ฝน ได้เป็นอย่างดี

โรงเรือนเลี้ยงนกอีมสามารถแบ่งได้ตามอายุต่าง ๆ ดังนี้

ลูกนกอีมู อายุ 0-12 สัปดาห์

ขนาดและพื้นที่

        ลูกนกอีมูอายุ 0-4 สัปดาห์ ใช้พื้นที่ 3 ตัว ต่อตารางเมตร และเลี้ยงเป็นฝูงได้ไม่เกิน 25 ตัว
        อายุ 5-12 สัปดาห์ ใช้พื้นที่ 3 ตัวต่อตารางเมตรและจะต้องเพิ่มพื้นที่ด้านนอกไว้ให้นกอีมูวิ่งเล่นอีกตัวละ 5 ตารางเมตร จะเลี้ยงเป็นฝูงได้มาก ไม่เกิด 100 ตัว

พื้นที่โรงเรือนจะต้องเรียบและไม่มีเศษวัสดุตกหล่น เช่น ตะปู ลวด เศษผ้า เป็นต้น เพราะลูกนกอีมูอาจจิกกินและเป็นอันตรายได้
วัสดุรองพื้นจะต้องอ่อนนุ่ม โดยจะต้องหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเปียกหรือจับกันเป็นแผ่นก้อนหรือจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว และไม่ควรปล่อยให้ลูกนกอีมูเดินบนพื้นคอนกรีต หรือพื้นลวด
แสงและความเข้มของแสง ลูกนกอีมูต้องการแสงอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าให้แสงมากกว่าวันละ 16 ชั่วโมง จะทำให้ลูกนกเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ หรือพิการ
ลูกนกอีมูอายุ 4 วันแรก ต้องการความเข้มของแสงประมาณ 40 ลักษ์ (Lux) หลังจากนั้นให้ลดลง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 20 ลักษ์ (Lux) จนครบ 12 สัปดาห์
ระบบระบายอากาศ ภายในโรงเรือนจะต้องมีการหมุนเวียนอากาศเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถระบายความร้อนหรืออากาศเสียออกไป เช่น ก๊าซแอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ระดับของแอมโมเนียในโรงเรือนจะต้องน้อยกว่า 20 ppm.

นกอีมูรุ่นอายุ 12 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน

พื้นที่บริเวณโรงเรือนตัวละครึ่งตารางเมตร และที่วิ่งเล่นอีกตัวละ 40 ตารางเมตร โดยจะสามารถเลี้ยงเป็นผู้ใหญ่ไม่เกิน 250 ตัว

นกอีมูอายุ 6-18 เดือน

พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงประมาณตัวละ 60 ตารางเมตร นกอีมูหนุ่มสาว อายุมากกว่า 1 ปี จะเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงได้ไม่เกิน 16 ตัว และใช้พื้นที่ 625 ตารางเมตร

นกอีมูพ่อ-แม่พันธุ์

พ่อ-แม่พันธุ์ 1 คู่ จะใช้พื้นที่ 400 ตารางเมตร เป็นอย่างน้อย โรงเรือนจะต้องมีระบบระบายน้ำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันไม่ให้คอกชื้นแฉะ ซึ่งนกอีมูไม่ชอบ

อาหารสำหรับนกอีม

การให้อาหารนกอีมูจะใช้อาหารไก่ไข่ระยะต่าง ๆ แต่จะต้องเสริมแร่ธาตุบางชนิด เพื่อให้เหมาะสมกับขนาด และความต้องการของนกอีมูแต่ละอายุ ซึ่งจะแบ่งความต้องการอาหาร อาหารของนกอีมูออกตามช่วงอายุได้ ดังนี้
ลูกนกอีมู อายุ 0-12 สัปดาห์ใช้อาหารลูกไก่ไข่ที่มีโปรตีน 18-20% พลังงาน 2,800-3,000 กิโลแคลอรี่ แต่ต้องไม่เสริมอาหารเยื่อใยอื่น ๆ ให้อาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ ครั้ง
อาหารนกอีมูรุ่นอายุ 12 สัปดาห์ถึง 18 เดือน ใช้อาหารไก่ไข่รุ่นที่มีโปรตีน 14-15 % พลังงาน 2,700-2,800 กิโลแคลลอรี่ ให้กินวันละตัวละ 300-400 กรัม และเสริมด้วยหญ้าหรือผักบ้าง
อาหารนกอีมูพ่อ-แม่พันธุ์ ใช้อาหารไก่ไข่ระยะไข่ที่มีโปรตีน 16% ให้กินวันละตัวละ 600 กรัม และเสริมด้วยหญ้าหรือผักแคลเซียม 3% ฟอสฟอรัส 0.7% ไลซีน 0.7% เมธไทโอนีน 0.32%

น้ำ

จะต้องมีให้นกกินอย่างเพียงพอและควรตรวจสอบคุณภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงนกอีมูด้วย

การผสมพันธุ์

ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จะใช้ผสมพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ในอัตราส่วนเพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 1 ตัว เนื่องจากนกอีมูเป็นสัตว์ที่มีฤดูกาลในการผสมพันธุ์ (Breeding Season) โดยตัวผู้และตัวเมียจะจับคู่กันผสมพันธุ์ แม่นกอีมูจะออกไข่เป็นตับ (Clutch) เหมือนไก่พื้นเมือง ตับละ 5-12 ฟอง ไข่หนักฟองละ 500-700 กรัม เมื่อแม่นกอีมูออกไข่แล้ว พ่อนกอีมูจะทำหน้าที่ฟักไข่ ซึ่งใช้เวลาฟักนาน 56 วัน อีกทั้งยังกกและเลี้ยงดูลูกนกอีมูด้วย

การฟักไข่นกอีมู

ไข่นกอีมูที่จะนำมาฟัก จะต้องมาจากพ่อแม่นกที่สมบูรณ์ แข็งแรงและได้ทำการผสมพันธุ์กันแล้ว โดยไข่ที่จะฟักไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 10 วัน เพราะถ้าเก็บไว้นานจะทำให้แนวโน้มที่จะฟักออกต่ำลง และควรเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิ 20-22 C ความชื้นสัมพัทธ์60-65 เปอร์เซ็นต์ ไข่นกที่เก็บไว้นานกว่า 7 วัน ควรจะทำการกลับไข่อย่างน้อยวันละครัง เพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อติดเยื่อเปลือกไข่ ไข่ที่นำเข้าฟักควรมีขนาด 500 กรัม โดยจะใช้เวลาฟักไข่ 56 วัน

วิธีการฟักไข่ มี 2 วิธี

ให้พ่อนกฟัก โดยพ่อนกจะฟักไข่ได้ครั้งละ 15-20 ฟอง
ใช้ตู้ฟักไข่ ไข่ที่จะนำมาฟัก หากน้ำออกมาจากห้องเก็บไข่ที่ควบคุมอุณหภูมิจะต้องนำออกมาว่างไว้ในห้องที่อุณหภูมิปกติเสียก่อนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง (preheat) แล้วจึงนำเข้าตู้ฟัก

อุณหภูมิและความชื้น

อุณหภูมิที่ใช้ฟักไข่ คือ 35.25 + 0.15 C (95.45+0.27 F) ความชื้น สัมพัทธ์ 45% (25 C หรือ 77-78 F) ถ้าอุณหภูมิและความชื้นสูงขึ้น จะทำให้เวลาในการฟักน้อยลง ในขณะเดียวกัน ถ้าอุณหภูมิและความชื้นต่ำลง จะเพิ่มเวลาในการฟักให้นานยิ่งขึ้น การที่จะนำไข่ชุดใหม่เข้าฟัก จะต้องนำไข่ชุดใหม่ไว้ในถาดชั้นบนของตู้ แล้วย้ายไข่เก่าไว้ถาดชั้นล่าง

การรมควัน

ควรจะทำการรมควันไข่ฟัก 3 ครั้ง คือ
ก่อนการนำเข้าห้องเก็บไข่เพื่อรอเข้าเครื่องฟัก
ระหว่างฟักไข่ หลังจากนำเข้าตู้ฟักไปแล้วอย่างน้อย 3 วัน
ก่อนย้ายจากตู้ฟัก (Setter) ไปตู้เกิด(Hatcher )รมควัน ด้วยก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ ในอัตราส่วนระหว่างฟอร์มาลิน 40 % จำนวน 40 ซีซี กับด่างทับทิม (KMnO4) 20 กรัม ต่อพื้นที่100 ลูกบาศก์ฟุต เป็นเวลา 20 นาที

การกลับไข่

ควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง และควรตรวจดูอุณหภูมิและความชื้นของตู้ฟัก เป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สำหรับการฟักไข่โดยพ่อนกอีมู พ่อนกกลับไข่ประมาณวันละ 9 ครั้ง

การกกลูกนกอีมู

ให้ติดไฟเครื่องกกก่อนที่จะนำลูกนกอีมูลงกกประมาณ 3-4 ชั่วโมง โดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27-28 Cและใช้อุณหภูมิขนาดนี้ติดต่อกันไปในระยะสัปดาห์แรกของการกก
ทีให้น้ำ ให้อาหาร จะต้องมีเพียงพอกับจำนวนลูกนกอีมูและสอนให้ลูกนกรู้จักที่ให้น้ำ
เมื่อลูกนกอีมูเข้ากกเรียบร้อยแล้ว ให้อาหารลูกนกครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ ครั้ง
ให้แสงสว่างในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง ในระหว่าง 2 สัปดาห์แรก
ระยะเวลาในการกกลูกนกอีมูประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งอาจมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นกับสภาพอากาศภายนอก และความแข็งแรงของลูกนก
ลดอุณหภูมิในการกกหลังสัปดาห์ที่ 3 ลงเหลือ 20-25 Cและกกด้วยอุณภูมินี้จนครบ 6-8 สัปดาห์