1. มาตราการควบคุมการนำเข้า

ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ชาใบและชาผง คือ

(1) ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ชา ต้องชำระภาษีอากรนำเข้า

(2) ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ชา ต้องขออนุญาตนำเข้า โดยกำหนดอัตราส่วนให้ซื้อชาที่ผลิตได้ในประเทศ (Local content) ผ่านองค์การคลังสินค้า ในสัดส่วนชาใบร้อยละ 60 และชาผลร้อยละ 50 ของปริมาณที่ขออนุญาตนำเข้า

2. พันธกรณี

2.1 ด้านการเปิดตลาด ตามข้อผูกพัน ประเทศไทยต้องเปิดตลาดนำเข้าชาใบและชาผง ดังนี้

(1) ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าชาใบและชาผงในลักษณะการกำหนดอัตราส่วนให้ผู้นำเข้าซื้อผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และปรับไปใช้มาตรการภาษีศุลกากรแทน โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2538-2547 จะกำหนดให้มีโควต้านำเข้าชาใบและชาผงในปริมาณขั้นต่ำ 596 ตัน ณ อัตราภาษีร้อยละ 30 หากนำเข้าในปริมาณที่เกินกว่า 596 ตัน หรือนอกโควต้าจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 หากนำเข้าในปริมาณที่เกินกว่า 625 ตัน จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90

(2) ชาสำเร็จรูป ซึ่งมีการใช้มาตรการภาษีอยู่แล้ว ให้เก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 60 ในระหว่างปี 2538-2547 และอัตราผูกพันในปี 2547 ให้เก็บลดลงเหลือร้อยละ 40

2.2 ด้านการอุดหนุนภายใน การอุดหนุนภายในกรณีผลิตภัณฑ์ชาของไทย ได้แก่ การแทรงแซงราคาผลิตภัณฑ์ชา ซึ่งองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคาชาที่ผลิตในประเทศและฝากขายผ่านองค์การฯ โดยจำหน่ายให้แก่ผู้นำเข้าชาจากต่างประเทศในราคาสูงกว่าราคาตลาด

3. การวิเคราะห์ผลกระทบ

3.1 พันธุกรณีทางกฎหมาย
การเปิดตลาด
ก) การลดอัตราอากรตามข้อผูกพันในแกตต์ ซึ่งรายการที่ได้ผูกพันไว้อยู่ในข้อ 2.1 นั้น เกี่ยวข้องกับประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

ข) การยกเลิกมาตรการควบคุมปริมาณนำเข้าผลิตภัณฑ์ชาเกี่ยวข้องกับพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 9 พ.ศ. 2496 ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2505 และประกาศของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งได้กำหนดอัตราส่วนการรับซื้อชาที่ผลิตภายในประเทศต่อปริมาณการนำเข้า เป็นมาตรการการจำกัดการนำเข้าซึ่งมิใช่ภาษี เป็นการขัดต่อข้อตกลงของแกตต์

การอุดหนุนภายใน การกำหนดราคาชาผลิตในประเทศให้สูงกว่าราคาตลาดท้องถิ่น ตามประกาศองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2524 เป็นการขัดต่อข้อตกลงของแกตต์

3.2 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ก) ด้านการผลิต
การผลิตชา รัฐให้การอุดหนุนโดยตรงต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โดยไม่มีข้อผูกพันเกี่ยวกับการซื้อใบชาสดจากเกษตรกรแต่อย่างใด ดังนั้นการลดการอุดหนุนจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อผู้ผลิตผลิตภัณพ์ชาและอาจส่งผลต่อเกษตรกรผู้ผลิตใบชาสดที่มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากใบชาสด คุณภาพดียังผลิตได้น้อยและเป็นที่ต้องการของตลาด

ผลการคำนวณมูลค่าการอุดหนุนในช่วงปีฐาน (2529-2531) มีมูลค่าการอุดหนุนเฉลี่ยร้อยละ 6.59 ของมูลค่าผลผลิตรวม หรือมีการอุดหนุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.03 บาท

จากการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการผลิตภายในประเทศ เมื่อมีการอุดหนุนระหว่างปี 2529-2531 จะมีผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์ชาภายในประเทศเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 1.97 ของปริมาณผลผลิตรวม เนื่องจากการอุดหนุนมีผลบิดเบือนต้นทุนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนี้นการเลิกการอุดหนุนการผลิตชาใบ จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ชาที่แท้จริงขยับสูงขึ้นและปริมาณการผลิตลดลง จากการศึกษาปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ชาที่นำมาขายให้แก่องค์การคลังสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็นชาคุณภาพต่ำ ดังนั้นการผลิตที่ลดลงน่าจะเป็นผลผลิตส่วนนี้หมายความว่า ผู้ผลิตชาคุณภาพต่ำจะขายผลผลิตไม่ได้ และเลิกไปในที่สุด

ข) ด้านการนำเข้า

จากการศึกษาผลกระทบของการอุดหนุนต่อการนำเข้า ระหว่างปี 2529-2531 ปรากฏว่า การนำเข้าลดลงคิดเป็นร้อยละ 2.83 ของการนำเข้ารวม เนื่องจากการปกป้องอุตสาหกรรมผลิตชาในประเทศ โดยการควบคุมการนำเข้า ทำให้ราคาตลาดถูกบิดเบือน ผู้บริโภคต้องซื้อในราคาสูงกว่าปกติ ตามข้อตกลง GATT มาตรการดังกล่าวต้องยกเลิก และปรับเปลี่ยนเป็นรูปภาษีนำเข้า (Tariffication) ซึ่งอาจส่งผลให้คามต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มนิยมบริโภคชาคุณภาพดีจากต่างประเทศ ขณะที่การผลิตชาคุณภาพดีภายในประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

ขณะเดียวกันผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ เมื่อมีการอุดหนุนในช่วงเดียวกันมีผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.3 เมื่อมีการยกเลิกการอุดหนุน จึงน่าจะมีผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ชาในประเทศลดต่ำลง และการบริโภคเพิ่มขึ้น

จากข้อตกลง GATT ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีผลบังคับใช้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ชาจะต้องเสียภาษีร้อยละ 30 สำหรับปริมาณนำเข้าในโควต้าจำนวน 596 ตัน ปริมาณนำเข้าที่นอกเหนือจากนี้จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 100 การเปรียบเทียบราคาที่จำหน่ายในประเทศ กับราคานำเข้า cif. ที่จำหน่ายในประเทศ กับราคานำเข้า cif. รวมภาษีนำเข้า ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมชาในประเทศยังได้รับการคุ้มครองโดยระบบภาษีใหม่ได้ เนื่องจากราคานำเข้าทั้งชาใบและชาผงนอกโควต้ายังค่อนข้างสูง

ค) ด้านการส่งออก

จากการศึกษาผลกระทบต่อการส่งออก เมื่อมีการอุดหนุนในระหว่างปี 2529-2531 ประเทศไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ชาได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.93

ดังนั้น เมื่อมีการลดเลิกการอุดหนุน จึงคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกมากนัก เนื่องจากชาที่ส่งออกยังเป็นชาคุณภาพต่ำ และตลาดค่อนข้างจำกัด

4. ศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด

4.1 ด้านการผลิต

ไทยยังมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชาใบโดยการปรับปรุงสวนชาเก่าให้ได้มาตรฐานปรับปรุงขบวนการผลิตชาให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อบริโภคภายในและการส่งออก ซึ่งมีศักยภาพการตลาดทั้งในประเทศและส่งออก

5. ผลการศึกษาวิเคราะห์

5.1 ด้านการผลิต การลดการอุดหนุนจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ที่ฝากชาขายผ่านองค์การคลังสินค้า โดยเหตุที่ชาที่ฝากขายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาคุณภาพต่ำ ดังนั้นการลดการอุดหนุนจะทำให้การผลิตชาคุณภาพต่ำมีต้นทุนสูงขึ้น อาจลดและเลิกการผลิตในที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นผลดี

5.2 ด้านการนำเข้า การเผิดตลาดชาของไทยตามข้อตกลงแกตต์ ไม่มีผลกระทบให้ความต้องการนำเข้าชาเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมชาในประเทศยังได้รับการคุ้มครอง โดยระบบภาษีนำเข้าใหม่ ซึ่งราคานำเข้าชาใบและชาผงนอกโควต้า เมื่อรวมภาษีแล้วยังค่อนข้างสูง

5.3 ด้านการส่งออก ประเทศไทยยังผลิตชาได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกมีน้อยมาก และมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ นอกจากนี้ยังไม่มีการส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบคือ ใบชาสดอย่างจริงจัง และประเทศผู้ผลิตชาของโลกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซ฿่งไม่มีการอุดหนุนการผลิตอยู่แล้ว ดังนั้นคาดว่าข้อตกลงแกตต์จะไม่มีผลให้ประเทศไทยส่งออกชาได้เพิ่มขึ้น

6. แนวทางการปรับตัว

ด้านการผลิต - เน้นการเพิ่มผลผลิตชาคุณภพา ทั้งชาใบและชาผง
ด้านการนำเข้า - เนื่องจากชาเป็นไม้ยืนต้น ต้องใช้ระยะเวลา 5-6 ปี จึงให้ผลเต็มที่ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิตได้รับการคุ้มครอง จึงควรผูกพันการนำเข้าชาระหว่าปี 2538-2546 ไว้ที่ปริมาณในโควต้า 596 ตัน (อัตราภาษีร้อยละ 30) ปริมาณนอกโควงต้าเก็บภาษีร้อยละ 100 แล้วจึงเพิ่มปริมาณน้ำเข้าในโควต้าเป็น 625 ตัน และการนำเข้านอกโควต้าให้เก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 90

6.1 การนำเข้าสินค้าชาจากประเทศนอกภาคีแกตต์ หรือ WTO ให้เป็นไปตามมารตการเดิม คือ ต้องขออนุญาตนำเข้าและต้องรับซื้อชาจากองค์การคลังสินค้าตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้เดิม (ประมาณ 60% นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศนอกภาคีแกตต์)

6.2 การนำเข้าสินค้าชาจากประเทศในภาคีแกตต์ หรือ WTO สำหรับปี 2538 เปิดตลาดชาตามข้อผูกพันในปริมาณโควต้า 596 ตัน การบริหารโควต้า การนำเข้าจัดสรรโควต้าตามประวัติของเอกชนที่เคยนำเข้าชา 4 ปีย้อนหลัง โดยกำหนดอัตราส่วนการนำเข้าชาใบ : ชาผงเป็น 70 : 30

6.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาจัดทำแผนการผลิตชาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมให้ปลูกชาคุณภาพดี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปุ๋ยราคาถูกและกิ่งพันธุ์คุณภาพดี เป็นต้น


ที่มา : กองการค้าสินค้าทั่วไป, กรมการค้าต่างประเทศ, 2538.