การติดตาต่อกิ่ง วิธีนี้สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง และมีการเจริญเติบโตดี โดยการนำยอดพันธุ์ดีมาต่อกับต้นตอที่ได้จากเมล็ดชาป่า ซึ่งมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เมื่อรอยแผลประสานกันดีแล้วสามารถนำไปปลูกในแปลงได้ วิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาจากการปักชำ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการปักชำจะไม่มีรากแก้ว ดังนั้นในพื้นที่ที่ขาดน้ำ ขาดการชลประทาน การกระจายตัวของน้ำฝนไม่ดีพอในเขตภูเขาสูง จึงควรขยายพันธ์โดยวิธีการต่อกิ่ง เนื่องจากวิธีนี้จะทำให้ได้ต้นกล้าที่มีระบบรากแก้วแข็งแรง สามารถหาอาหารและน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลผลิตยอดชาสดที่เป็นชาพันธุ์ดี มีคุณภาพ

(Cleft grafting) ให้ตัดต้นตอจากต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่มีลำต้นขนาดเท่าดินสอดำ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร อายุประมาณ 1 - 1.5 ปี โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดต้นตอเป็น stock สูงประมาณ 8-12 เซนติเมตร ผ่าต้นตอลึกประมาณ 1- 1.5 นิ้ว จากนั้นตัดกิ่งพันธุ์ดีให้มีตาและใบติด 2-3 ตา แล้วเฉือนส่วนล่างของกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม เผยอรอยต่อบนต้นตอแล้วเสียบกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปในส่วนของตัวตอที่ผ่า โดยให้ส่วนของกิ่งพันธุ์ที่เฉือนเป็นรูปลิ่มสนิทแน่นกับต้นตอที่ผ่า (ให้เนื้อเยื่อเจริญตรงกัน) พันด้วยผ้าพลาสติกและปิดรอยแผลให้มิดชิด แล้วใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่คลุมไว้ทำที่บังร่ม เพื่อป้องกันการเหี่ยวของกิ่งพันธุ์ดี และทำให้มีเปอร์เซ็นต์การเชื่อมติดดีขึ้น ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีจะเชื่อมติดต่อกันภายใน 45 วัน

การต่อกิ่งโดยวิธีเสียบกิ่งสามารถใช้ในการเปลี่ยนพันธุ์ชาในแปลงปลูกต้นชาที่มีอายุหลายปีได้ด้วย โดยเสียบกิ่งพันธุ์ดี 2 กิ่งต่อต้นตอ 1 ต้น

(bud grafting) เตรียมต้นตอที่สมบูรณ์ไว้ กรีดเปลือกต้นตอเป็นรูปต้น T ขนาดความยาว 1.5x3 เซนติเมตรให้ตำแหน่งรอยกรีดอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 10 เซนติเมตร เฉือนแผ่นตาพันธุ์ดี ขนาด 2 เซนติเมตรออกมา แกะเนื้อไม้ออก แล้วนำไปสอดเข้ากับรอยกรีดของต้นตอที่เตรียมไว้เสร็จแล้วใช้พลาสติกใสพันปิดรอยแผลโดยพันจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ รอยแผลที่ติดตาจะเชื่อมติดกัน ตัดแต่งกิ่งที่อยู่เหนือตาขึ้นไป 2 เซนติเมตรออก และส่วนเจริญของต้นตอที่อยู่ด้านล่างตาพันธุ์ดี ต้องตัดออกจนกว่ากิ่งพันธุ์ดีจะเจริญเป็นหน่อ