แมลงที่สำคัญ  

1. หนอนใยผัก  
หนอนใยผักเป็นหนอนผีเสื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาหนอนผีเสื้อศัตรูผักจะมีลักษณะหัวท้ายแหลม เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรง และทิ้งตัวลงดินโดยการสร้างใยมักจะพบตัวแก่ตามใบเกาะอยู่ในลักษณะหัวยกขึ้น หนอนใยเกิดจากที่แม่ผีเสื้อวางไข่ไว้ ไข่มีขนาดเล็กค่อนข้างแบน สีเหลืองวางติดกัน 2-5 ฟอง อายุฟักไข่ประมาณ 3 วัน อายุดักแด้เพียง 3-4 วัน ตัวแก่เป็นสีเหลืองเทา ส่วนหลังมีแถบสีเหลือง ตัวแก่อายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ การทำลายจะกัดกินใบอ่อน หรือดอก กัดกินใบที่หุ้มอยู่ทำให้ใบเป็นรูพรุน หนอนใยมีความสามารถในการทนต่อยาและปรับตัวต้านทานยาได้ 

 
หนอนใยผัก 

การป้องกันกำจัด 
1. ใช้สารเคมีพวกยาฆ่าแมลงกำจัดตัวหนอนโดยตรง 
2. การใช้เชื้อแบคทีเรีย (Bacillus thuringiensis Barinay) 
3. หมั่นตรวจดูแปลง เมื่อพบตัวหนอนควรรีบทำลายทันที 

2. หนอนกระทู้ผัก 
หนอนกระทู้ผักมักพบบ่อยในพวกผักกาด จะกัดกินใบ, ก้าน หรือเข้าทำลายในหัวปลี มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อม ๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ หนอนชนิดนี้สังเกตได้ง่าย ลำตัวอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบคล้ายหนอนกระทู้หอม สีสันต่าง ๆ กัน แถบสีขาวข้างลำตัวไม่ค่อยชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 3-4 เซนติเมตร เคลื่อนไหวช้า ระยะตัวหนอนกินเวลาถึงอาทิตย์เข้าดักแด้ตามใต้ผิวดิน ระยะดักแด้ประมาณ 7-10 วัน การทำลายจะกัดกินก้านใบและปลี ในระยะเข้าปลี  

การป้องกันกำจัด 
1. หมั่นตรวจดูสวนผัก เมื่อพบไข่ควรทำลายเสียจะระงับการระบาดมิให้ลุกลามต่อไป 
2. สารเคมีที่อาจใช้ Methomyl อัตรา 10-12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรืออาจใช้ Triazophos อัตรา 50-60 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร  

3. เพลี้ยอ่อน  
ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ออกจากท้องแม่ได้โดยที่เพศเมียไม่ต้องผ่านการผสมพันธุ์ ตัวอ่อนที่ออกจากตัวแม่ ใหม่ ๆ พบว่ามีลำตัวขนาดเล็กมากต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลำตัวสีเหลืองอ่อนนัยตาสีดำ ขาทั้ง 3 คู่ สีเช่นเดียวกับลำตัวการทำลายเพลี้ยอ่อนชนิดนี้ทำลายพืชทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการดูดน้ำเลี้ยงจากพืชทั้งยอด ใบอ่อน ใบแก่ ช่อดอก ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัด คือ ยอดและใบจะหยิกงอ เมื่อเพลี้ยอ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พืชก็จะเหี่ยว ใบผักจะถูกทำลาย จะค่อย ๆ มีสีเหลืองและร่วงหล่น ลำต้นจะแคระแกรน ถ้าทำลายช่อดอกจะทำให้ดอกร่วงหล่นหลุด ทำให้ผลผลิตลดลง 

 
เพลี้ยอ่อน 

การป้องกันกำจัด  
ควรใช้สารเคมีกลุ่มมาลาไธออน มีชื่อการค้า เช่น มาลาเทนฒ มาลาไธออน 83% ในอัตรา 30-55ซีซี./น้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน นอกจากนั้นอาจใช้ในอัตรา 5 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทำการพ่นเป็นครั้งคราว ยาชนิดนี้เป็นยาที่เหมาะสำหรับสวนผักหลังบ้าน ปลอดต่อมนุษย์  

4. หมัดกระโดด 
พบตลอดปี ฉีดพ่นเซฟวิน 85 หรือแลนเนท เมื่อย้ายปลูก มดทำลายช่วงก่อนกล้างอก สังเกตจากทางเดินมด ป้องกันโดยใช้ เซฟวิน 85 และคูมิฟอสรดแปลงกล้า  

 
หมัดกระโดด 

เอกสารอ้างอิง  
- อุดม โกสัยสุก 2530 การปลูกผักกินใบ 
- กองบรรณาธิการฐานเกษตร 2534 รวมเรื่องผัก 
- กลุ่มหนังสือเกษตร 2535 สวนผัก 
- ทศพร แจ้งจรัส 2531 ผักฤดูหนาวและผักตระกูลกระหล่ำ 
- สมพร เทพเดชา 2533 การจัดการสวนผัก 
- โครงการหลวง 2533 การปลูกผักบนที่สูงของประเทศไทย 
- สมศิริ แสงโชติ 2532 โรคของพืชเศรษฐกิจ....พืชผัก  
ภาควิชาโรคพืชคณะเกษตร 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
- จิรา ณ หนองคาย เทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวผักผลไม้ และดอกไม้  
- โกสินทร์ สายแสงจันทร์ 2536 วิธีปลูกผักสำคัญบางชนิด